ปลานกแก้ว (Parrotfish)
แม้นปลานกแก้วที่พบในท้องทะเลไทยทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามันจะมีอยู่มากมายกว่า 20 ชนิด แต่เมื่อนักดำน้ำพบเห็นก็สามารถจะแยกแยะออกได้ทันทีว่าเป็นปลานกแก้ว เพราะรูปร่างที่เป็นเอกลักษณ์โดยเฉพาะบริเวณปากที่ปลาตระกูลนี้จะมีฟันที่แข็งแรงลักษณะติดกันเป็นแผงติดกันเป็นพืดยื่นออกมานอกเรียวปากทั้งด้านล่างและด้านบนลักษณะคล้ายเป็นจะงอยปากของนกแก้ว อันเป็นที่มาของชื่อปลานกแก้วนั่นเอง ซึ่งนอกจากปากจะมีลักษณะเป็นปากนกแก้วแล้ว สีสันบนลำตัวของมันยังสดใสสวยงามคล้ายกับสีสันของนกแก้วซึ่งมีตั้งแต่สีเขียว สีแดง สีเหลือง สีลายดำแดง และสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนปลาอื่นใดอีกอย่างหนึ่งก็คือลักษณะของท่าทางการว่ายน้ำ ซึ่งปลานกแก้วจะว่ายน้ำโดยใช้ครีบข้างลำตัวกางโบกน้ำแล้วหุบเข้ามาติดลำตัว โบกแล้วหุบ โบกแล้วหุบ เป็นจังหวะมองดูสวยงามราวกับการกางปีกบินของนกเลยทีเดียว
ปลานกแก้วเป็นปลาที่ชอบอาศัยอยู่ในน้ำทะเลค่อนข้างใส ว่ายเวียนหากินอยู่ตามแนวปะการัง โดยเฉพาะบริเวณหมู่ปะการังโครงสร้างแข็ง ด้วยธรรมชาติได้ออกแบบโครงสร้างของปากและฟันอันแข็งแรงให้เหมาะสมกับการขูดกัดแทะกินสาหร่ายที่เคลือบอยู่บนโขดหินหรือโขดปะการัง รวมทั้งการขูดกินตัวปะการังขนาดเล็กจากปะการังโครงสร้างแข็งทั้งหลาย โดยแผงฟันที่มีแถวบนสองแถวแถวล่างสองแถวจะสามารถขุดหรือแทะขบผิวหน้าของปะการัง ปลานกแก้วจะมีอวัยวะภายในสำหรับแยกแยะตัวปะการังกับฝุ่นผงที่เป็นโครงสร้างหินปูน เพื่อขับถ่ายออกมาคืนสู่ท้องทะเล เราจึงสามารถจะพบเห็นปลานกแก้วว่ายน้ำกินไป ถ่ายฝุ่นผงไปเป็นระยะๆ ซึ่งจากการศึกษาวิจัยของนักชีววิทยาทางทะเลพบว่า ปลานกแก้ตัวโตขนาดน้ำหนักประมาณ 1 กิโลกรัมนั้น สามารถจะผลิตฝุ่นทรายให้กับท้องทะเลได้เป็นปริมาณมากถึง 1 ตันเลยทีเดียว ซึ่งจะจริงจะเท็จอย่างไรนั่นเป็นเรื่องของการศึกษาการคำนวณ ซึ่งก็อาจจะเป็นไปได้ครับ เพราะปลานกแก้วนั้นจะใช้เวลาออกว่ายน้ำหากินในตอนกลางวันตลอดทั้งวัน วันหนึ่งก็กัดกินและถ่ายผงทรายออกมา ฝุ่นผงของโครงสร้างหินปูนเหล่านี้ก็มีน้ำหนักอยู่ไม่น้อย ถ้านำปริมาณมาชั่งน้ำหนักกันทั้งปีก็อาจจะมีน้ำหนักเป็นตันได้เหมือนกัน แต่ถ้าจะมีความเห็นแย้งว่า หากปลานกแก้ว 1 ตัวกินปะการังแล้วถ่ายมูลฝุ่นผงทรายออกมาเป็นตันใน 1 ปี ทั่วทั้งแนวปะการังบางแห่งมีปลานกแก้วอยู่มากมาย ถ้ากัดกินตัวละ 1 ตันเช่นนั้น แนวปะการังคงจะไม่มีอะไรเหลือให้กัดให้กินให้อยู่อาศัยอย่างที่เห็นเช่นทุกวันนี้หรอก
ปลานกแก้วเป็นปลาที่อาศัยอยู่ในแนวปะการังเขตร้อนและเขตอบอุ่น พบมากทั้งฝั่งทะเลอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามัน อาศัยแนวปะการังเป็นที่อยู่อาศัย หลบภัย และหาอาหาร โดยที่อาหารหลักของปลานกแก้วคือสาหร่ายและซากปะการัง โดยจะออกหากินในเวลากลางวันและซ่อนตัวเพื่อหลับนอนในเวลากลางคืน
ประโยชน์ของปลานกแก้วต่อระบบนิเวศน์
เนื่องจากปลานกแก้วอาศัยอยู่ตามแนวปะการัง และกินซากปะการังและสาหร่ายเป็นอาหาร ดังนั้นปลานกแก้วจึงมีประโยชน์ต่อระบบนิเวศน์และการมีอยู่ของปะการังอย่างมาก (ปะการังคือที่อยู่และที่วางไข่ของสัตว์ทะเลจำนวนมาก) กล่าวคือ ปลานกแก้วช่วยกินสาหร่ายทะเลซึ่งเป็นตัวขัดขวางการสังเคราะห์แสงของประการัง ซึ่งถ้ามีสาหร่ายทะเลมากเกินไปจนคลุมทับปะการังจนสังเคราะห์แสงไม่ได้ ปะการังรังนั้นก็จะตาย เมื่อมีปลานกแก้วมาช่วยกำจัดสาหร่าย อันตรายของปะการังจากสาหร่ายทะเลก็จะหมดไป
นอกจากนี้ปลานกแก้วยังชอบกินซากปะการังทำให้ตัวอ่อนประการังสามารถร่วงตกลงสู่พื้นดินได้ง่ายและสามารถงอกเป็นประการังใหม่ขึ้นมาได้ ประกอบกับขี้ของปลานกแก้วมีลักษณะเป็นผงสีขาว ช่วยเพิ่มเนื้อดิน (ทราย) ในบริเวณนั้น ซึ่งเอื้อต่อการเจริญเติบโตของปะการังได้เป็นอย่างดี
ดังนั้นจึงสามารถกล่าวได้ว่า ในระบบนิเวศน์ใดที่มีปลานกแก้วชุกชุม ปะการังก็จะเจริญเติบโตได้ดี และสามารถเป็นแหล่งอาหาร ที่หลบภัย ที่วางไข่ และที่อนุบาลตัวอ่อนให้กับสัตว์ทะเลได้เป็นจำนวนมาก ทำให้ระบบนิเวศน์ในทะเลบริเวณนั้นมีความสมบูรณ์
Post a Comment