ปลากะมงพร้าว (Giant kingfish)

by 00:15

     ปลากะมงพร้าว มีส่วนหัวโค้งลาด ปากกว้าง ลำตัวแบนข้าง ครีบหางเว้าลึก ข้างลำตัวและโคนหางมีเส้นแข็งสีคล้ำ ลำตัวสีเทาเงินหรืออมเหลือง ครีบอกสีเหลือง ครีบอื่นสีคล้ำ ในปลาขนาดใหญ่อาจมีจุดประสีคล้ำที่ข้างลำตัว มีความยาวเมื่อโตเต็มที่ได้ถึง 170 เซนติเมตร น้ำหนัก 80 กิโลกรัม 
      ปลาขนาดเล็กจะอยู่รวมเป็นฝูง เมื่อโตขึ้นจะแยกอยู่ตามลำพังหรือเป็นฝูงเล็ก ๆ มักว่ายคู่กับปลาขนาดใหญ่ เช่น ปลาฉลามวาฬหรือปลากระเบนแมนตา เป็นปลาที่กินเนื้อเป็นอาหาร โดยไล่ล่าปลาขนาดเล็กต่าง ๆ รวมทั้ง หมึก, กุ้ง และปู เป็นอาหาร



          ในปลาขนาดเล็กอาจพบได้ในแหล่งน้ำกร่อยหรือน้ำจืด เช่น ท่าเรือ, ชายฝั่ง และปากแม่น้ำ ปลาขนาดใหญ่อยู่นอกแนวปะการังหรือกองหินใต้น้ำ ในทะเลเปิด ที่แอฟริกาตะวันออก ปลากะมงพร้าวขนาดโตเต็มวัยจะว่ายเป็นฝูงเข้ามาในแม่น้ำที่เป็นน้ำจืด อย่างช้า ๆ และว่ายเป็นวงกลมรอบ ๆ ไปมา โดยที่ยังไม่ทราบสาเหตุถึงพฤติกรรมเช่นนี้

เป็นปลาที่แพร่กระจายไปในมหาสมุทรแปซิฟิก และมหาสมุทรอินเดีย ตั้งแต่ฮาวาย, ญี่ปุ่น, ชายฝั่งแอฟริกาตะวันออก จนถึงออสเตรเลีย ในน่านน้ำไทยสามารถพบได้ทั้ง 2 ฟากฝั่งทะเล จัดเป็นปลาที่พบได้บ่อย

เป็นปลาขนาดใหญ่ที่นิยมตกกันเป็นเกมกีฬา โดยถือเป็นปลาเกมที่เป็นปลาทะเล 1 ใน 3 ชนิดที่นิยมตกกัน และเป็นปลาเศรษฐกิจ และนิยมเลี้ยงกันในพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งปลากะมงพร้าวมีพฤติกรรมพุ่งเข้าชาร์จอาหารด้วยความรุนแรง ทำให้หลายครั้งสร้างความบาดเจ็บแก่ผู้ให้อาหารแบบที่สวมชุดประดาน้ำลงไปให้ถึงในที่เลี้ยง



อีกทั้ง ยังมีผู้ที่นิยมเลี้ยงปลาสวยงามประเภทปลาใหญ่ หรือปลากินเนื้อ เลี้ยงเป็นปลาสวยงามด้วย เช่นเดียวกับปลากะมงตาแดง (C. sexfasciatus) โดยจะนำมาเลี้ยงในน้ำจืดตั้งแต่ยังเล็ก ๆ ทั้งนี้มีรายงานระบุอย่างไม่เป็นทางการว่า ในหลายพื้นที่ได้พบปลากะมงพร้าวขนาดกลางหรือค่อนไปทางใหญ่ในแหล่งน้ำจืด เช่น ในเหมืองร้างแห่งหนึ่ง ในอำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา และที่จังหวัดชุมพร สันนิษฐานว่าคงเป็นปลาที่ผลัดหลงมาจากเหตุการณ์สึนามิเมื่อปลายปี ค.ศ. 2004 ซึ่งปลามีน้ำหนักประมาณ 2-10 กิโลกรัม นอกจากนี้แล้วที่ประเทศอินโดนีเซีย ยังมีผู้เลี้ยงปลากะมงพร้าวในน้ำจืดได้ในบ่อปลาคาร์ป จนมีขนาดใหญ่ราว 60 เซนติเมตรได้ โดยเลี้ยงมาตั้งแต่ตัวประมาณ 5 เซนติเมตร ซึ่งการจะเลี้ยงปลาให้เติบโตและแข็งแรงจนโตได้ ต้องเลี้ยงในสถานที่ ๆ มีความกว้างขวางพอสมควร และต้องผสมเกลือลงไปในน้ำในปริมาณที่มากพอควร แม้จะมีปริมาณความเค็มไม่เท่ากับน้ำทะเลก็ตาม

คำถามกับคำตอบก่อนเรียนดำน้ำ

by 19:58

 คำถามก่อนเรียนดำน้ำ                                                                                                                                             เมื่อคุณเริ่มคิดอยากลงไปสัมผัสโลกใต้ทะเล แหวกว่ายสายน้ำ เฉกเช่นเดียวกับปลาทะเลน้อยใหญ่ คุณคงนึกถึงการดำน้ำลึกด้วยอุปกรณ์ช่วยการหายใจใต้น้ำ แบบที่เรียกว่า สคูบ้า (SCUBA diving) และคุณก็จะพบว่าสิ่งแรกที่คุณต้องทำเพื่อจะได้ทำฝันให้เป็นจริง ก็คือการสมัครเข้าเรียนหลักสูตรดำน้ำลึกของสถาบันใดสักแห่ง ที่เป็นที่ยอมรับในมาตรฐานการสอนอย่างเป็นสากล ... และจากนั้น คำถามมากมายคงปรากฏขึ้นในใจของคุณ ไม่ว่าจะเป็น
การเรียนดำน้ำยากหรือไม่ ต้องแข็งแรงแค่ไหน ต้องว่ายน้ำได้เก่งเพียงใด?
โลกใต้น้ำอันตรายแค่ไหน เสี่ยงต่อการบาดเจ็บ สูญเสียหรือไม่?
คำถามเหล่านี้เกิดขึ้นในใจนักดำน้ำเกือบทุกคน ก่อนที่จะเริ่มก้าวแรกเข้ามาสู่โลกของนักดำน้ำลึก และแน่นอน คำตอบของคำถามเหล่านี้ ก็มีให้เรียบร้อยแล้วเช่นกัน ให้คุณเลือกอ่านเพื่อคลายข้อสงสัย และพร้อมก้าวเข้าสู่โลกใหม่ที่จะเปลี่ยนความรู้สึกต่อโลกใบนี้ของคุณไปตลอดกาล
                                         

ความปลอดภัยของการดำน้ำ

การดำน้ำปลอดภัยเพียงใด
Diver with OK Signal

จากอดีตจนถึงปัจจุบัน การดำน้ำลึกแบบ Scuba ได้เกิดขึ้นมาในโลกกว่า 60 ปีแล้ว และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานี้ อุปกรณ์ที่ใช้ ก็ได้รับการพัฒนาตามเทคโนโลยี ที่ก้าวหน้ามากขึ้นไปด้วย ทำให้การดำน้ำลึกในปัจจุบัน มีความสะดวกและปลอดภัย เป็นอย่างยิ่ง จนแม้แต่เด็กๆ ก็อาจจะมีบัตรนักดำน้ำสากลได้ ก่อนบัตรประชาชนเสียอีก

แต่อย่างไรก็ตาม ร่างกายของมนุษย์นั้น ไม่ได้ถูกออกแบบมา เพื่อดำรงชีวิต อยู่ใต้ทะเล และอุบัติเหตุ อาจเกิดขึ้นได้ ทุกเมื่อ ไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือไม่ ก็ตาม จึงมีความจำเป็นที่ นักดำน้ำทุกคน ต้องได้รับการอบรม ให้ความรู้ เกี่ยวกับ สภาพแวดล้อมใต้ทะเล การปรับตัว และการใช้อุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงโรคภัยที่เกี่ยวข้อง และการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า มาเป็นอย่างดี รวมทั้งความระมัดระวัง และหมั่นฝึกฝน ทักษะต่างๆ จึงจะสามารถดำน้ำได้อย่างสนุกสนาน และปลอดภัย

การดำน้ำเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมใต้ทะเลหรือไม่

ธรรมชาติใต้ทะเลนั้น เปราะบางมาก เรามักจะได้พบเห็นภาพ นักท่องเที่ยวที่ไปดำน้ำ ทั้งแบบผิวน้ำ และแบบ Scuba ตวัดปลายเท้าหรือเหยียบย่าง ลงบนปะการัง ทำให้ปะการัง ได้รับความเสียหาย อยู่เสมอๆ จนเป็นที่ครหาว่า การดำน้ำ อาจเป็นการทำลายธรรมชาติ อันสวยงามใต้ทะเล ก็ได้

แต่ในอีกทางหนึ่ง นักท่องเที่ยวดำน้ำ ที่ได้มีโอกาสสัมผัสความงดงามของปะการัง และสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลมาแล้ว ส่วนใหญ่ จะเกิดความรู้สึกรัก หวงแหน และตระหนัก ในความสำคัญ ของท้องทะเล อยากให้ความสวยงาม และอุดมสมบูรณ์ คงอยู่ตลอดไป และพยายามท่องเที่ยว ชมความงดงาม อย่างมีจิตสำนึก คอยระวัง ไม่ไปทำลาย สภาพแวดล้อมเหล่านั้น หรือจนถึงขั้นรวมตัว ก่อตั้งเป็นกลุ่มหรือชมรม ที่ดำเนินกิจกรรม เพื่อการอนุรักษ์ทะเล กันเลยทีเดียว เช่น ชมรมรักษฉลามวาฬ เป็นต้น

จึงกล่าวได้ว่า การดำน้ำลึก ก็เป็นจุดเริ่มต้น ประการสำคัญ ที่จะทำให้ประชาชน ได้เห็นความสำคัญ ของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมใต้ทะเล กันมากขึ้น ส่วนจะทำลายสิ่งแวดล้อมหรือไม่ ย่อมขึ้นอยู่กับนักดำน้ำ ที่จะต้องฝึกฝน ควบคุมการเคลื่อนไหวใต้น้ำ ให้ชำนาญ ไม่ให้ไปทำลายแนวปะการัง อันสวยงาม

ทะเลน่ากลัวจะตาย เจอฉลามจะทำยังไง

ลองมาเรียนดำน้ำดูสิครับ แล้วคุณจะรักทะเลมากขึ้นกว่าเคย

คุณอาจจะเคยมองเห็น ความเวิ้งว้าง ถัดออกไปจากแนวปะการังริมฝั่ง ขณะลอยตัว ดูปะการัง อยู่บนผิวน้ำ แต่เมื่อคุณได้ลองดำน้ำ ลงไปพบกับธรรมชาติใต้ทะเล ที่ลึกกว่า คุณจะรู้ว่า ไม่มีอะไรน่ากลัว อยู่ใต้ทะเลเลย

ใช่แล้ว... แม้แต่ฉลามก็ไม่น่ากลัว อย่างที่คิดหรอกครับ โดยปกติ เหยื่อของฉลาม จะต้องมีขนาดเล็กกว่า ตัวมันเองมาก มนุษย์จึงไม่ใช่อาหารของฉลาม ในปัจจุบัน ฉลาม กลับเป็นสัตว์ ที่พบได้ยาก จนกระทั่ง การได้เจอฉลาม ระหว่างการดำน้ำ คือประสบการณ์ที่สนุกสนาน และน่าประทับใจ



สุขภาพ และสมรรถภาพ

ต้องแข็งแรงแค่ไหน ต้องว่ายน้ำเป็นหรือไม่

ตามกติกามาตรฐานสากลคือ ต้องว่ายน้ำเป็นครับ แต่ไม่จำเป็นต้องว่ายได้ดี ระดับนักกีฬาหรอกครับ แค่พอว่ายเป็น สามารถลอยตัวในน้ำได้ ไม่ตื่นตกใจเมื่อต้องลอยน้ำตัวเปล่า ก็พอแล้ว ส่วนผู้ที่ว่ายน้ำไม่เป็น แนะนำให้ลองหัดว่ายน้ำ หรือทำความคุ้นเคยกับน้ำก่อน เพราะมีผลต่อความปลอดภัยของนักดำน้ำ ทั้งตนเอง และ buddy เพื่อนร่วมทริป

สำหรับเรื่องความแข็งแรงนั้น กีฬาดำน้ำจัดเป็นกีฬาที่ใช้ทักษะ มากกว่าพละกำลัง หัวใจสำคัญจึงอยู่ที่การฝึกฝน ความชำนาญ ประสบการณ์ และสติสมาธิ ซึ่งก็ต้องพร้อมด้วยสุขภาพที่ดีเช่นกัน

อายุยังไม่ถึง 12 เลย เรียนได้หรือเปล่า

ผู้ที่จะเรียนดำน้ำแบบ Scuba ได้ จะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 8 ปีครับ

น้องที่อายุระหว่าง 12 - 15 ปี หลังจากเรียนจบแล้ว สามารถดำน้ำในความลึกประมาณ 10 - 18 เมตร และจะได้รับบัตรนักดำน้ำ Junior Open Water ซึ่งสามารถดำน้ำได้ทั่วโลกเช่นกัน แต่ถ้าอายุไม่ถึง 12 ปี สามารถเรียนหลักสูตร Bubble Maker ซึ่งเป็นหลักสูตร สำหรับเด็กอายุตั้งแต่ 8 - 12 ปี เป็นการดำน้ำในสระว่ายน้ำ ที่ความลึก 2 เมตร กีฬาดำน้ำจึงเป็นกิจรรมที่สามารถทำร่วมกันได้ ทั้งครอบครัว

มีโรคประจำตัว จะเรียนดำน้ำได้หรือไม่

ผู้ที่จะเรียนดำน้ำ ต้องไม่เป็นโรคหัวใจ ลมชัก เบาหวาน หรือโรคหอบ (กรุณาปรึกษาแพทย์ เนื่องจากบางโรค ถ้ามีใบรับรองจากแพทย์ ก็สามารถเรียนได้)

เป็นคนเมาเรือง่าย จะไปออกสอบหรือออกทริปได้ไห

นักดำน้ำหลายคน ก็เมาเรือเป็นกิจวัตรเหมือนกัน วิธีป้องกันหรือแก้ไขง่ายๆ คือ ใช้ยาแก้เมาเรือ นอกจากนี้ ยังมีเทคนิค ลดอาการเมาเรือ ได้อีกมากมาย เช่น การพักผ่อนให้เพียงพอ งดสุรา และสูบบุหรี่ ล่วงหน้าก่อนไปดำน้ำ เป็นต้น

เกี่ยวกับอุปกรณ์ดำน้ำ

ระหว่างเรียนดำน้ำ ต้องมีอุปกรณ์เป็นของตัวเองหรือไม่

อุปกรณ์ที่ต้องใช้ทั้งหมด ทางร้านดำน้ำ จะมีไว้ให้บริการ รวมอยู่ในค่าเรียนเรียบร้อยแล้ว สิ่งที่ต้องเตรียมมาด้วย ก็มีเพียง ชุดว่ายน้ำของคุณเอง อย่างเดียวเท่านั้น

สายตาสั้น จะทำยังไงดี

ถ้าสั้นเพียง 100 - 200 (1.0 - 2.0 diopter) ก็ไม่มีปัญหา เพราะเมื่อลงน้ำ ภาพใต้น้ำจะใหญ่กว่าปกติ 33% ถ้าสั้นกว่านั้น ก็สามารถใช้ คอนแทคท์เลนส์ ร่วมกับหน้ากากดำน้ำปกติ หรือถ้าไม่สะดวก หน้ากากดำน้ำส่วนใหญ่ สามารถเปลี่ยนเลนส์ได้ และทางร้านดำน้ำ อาจมีหน้ากากดำน้ำติดเลนส์บางขนาด ให้ใช้เรียนอยู่แล้ว เพียงคุณแจ้งขนาดสายตา ก่อนลงฝึกปฏิบัติ ในสระว่ายน้ำ

หลังจากเรียนจบแล้ว ต้องซื้ออุปกรณ์เป็นของตัวเองหรือเปล่า

เรื่องนี้แล้วแต่ความสะดวกครับ ถ้าไม่มีอุปกรณ์ดำน้ำ เป็นของตัวเอง คุณก็สามารถหาเช่าได้จากร้านดำน้ำ ที่พาคุณไปออกทริปดำน้ำ ในราคาไม่แพง หากต้องการ มีเป็นของตัวเอง ก็เริ่มจากอุปกรณ์พื้นฐานก่อน ได้แก่ หน้ากากดำน้ำ ท่อหายใจ wetsuit และตีนกบ ซึ่งก็ไม่จำเป็นต้องซื้อพร้อมกัน ลองใช้ดูก่อน ว่าชอบแบบไหน อย่างไร แล้วค่อยซื้อก็ได้

อุปกรณ์ดำน้ำดูจะหนักมาก จะแบกไหวหรือ

เมื่อลงน้ำไปแล้ว อุปกรณ์ดำน้ำทั้งหมด จะช่วยให้เรา สามารถปรับสภาพการลอยตัว เป็นศูนย์ นั่นหมายความว่า เรา (และอุปกรณ์ที่ติดอยู่กับตัวเรา ทั้งหมดรวมกัน) จะอยู่ในสภาพไร้น้ำหนัก ขณะดำน้ำ

ส่วนบนเรือ อุปกรณ์ดำน้ำก็ไม่ได้หนักมาก จนเกินกำลัง รวมทั้งระยะทางที่จะต้องแบก ก็เพียงจากที่นั่ง ไปยังท้ายเรือ เพื่อลงทะเล เพียงไม่กี่วินาทีเท่านั้น เพื่อนนักดำน้ำทุกคน ล้วนมีน้ำใจ คอยดูแลช่วยเหลือกันอยู่แล้


การเรียน และการสอน

ออกสอบภาคทะเลยากมั้ย ถ้าสอบไม่ผ่านจะทำอย่างไร

ไม่ยากเลยครับ เราจะฝึกสอนจนกระทั่ง คุณสามารถปฏิบัติทักษะต่างๆ ได้อย่างคล่องแคล่ว และมีความพร้อมที่จะออกสอบในทะเล

เรียนจบแล้วไปดำน้ำที่ไหนได้บ้าง

หลังจากสอบผ่านหลักสูตรครบถ้วนแล้ว คุณจะได้รับบัตรนักดำน้ำสากล ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก เพียงคุณแสดงบัตรนี้ ณ ร้านดำน้ำที่ได้มาตรฐาน คุณสามารถเช่าอุปกรณ์ เติมถังอากาศ หาลีดเดอร์ ที่จะพาคุณไปดำน้ำ ยังจุดดำน้ำต่างๆ ได้ทุกแห่ง...ทั่วโลก ทั้งนี้ตามกติกาสากลคือ คุณจะต้องไม่ดำน้ำเพียงลำพังคนเดียว

เรียนจบแล้วไม่ได้ดำน้ำนานๆ จะลืมหรือเปล่า

ถ้าไม่นานมากนัก คุณจะสามารถรื้อฟื้นทักษะ ได้จากการดำน้ำ dive แรก อย่างสบายๆ ซึ่งตามปกติ dive แรกของทริปดำน้ำ จะเลือกจุดดำน้ำ ที่ไม่ยากมากนัก สภาพน้ำไม่รุนแรง เป็นการอุ่นเครื่องให้กับนักดำน้ำก่อน แต่ถ้าคุณไม่ได้ดำน้ำนานกว่า 1 ปีขึ้นไป คุณควรจะเข้าคอร์ส ทบทวนทักษะการดำน้ำ กับร้านดำน้ำก่อน ซึ่งใช้เวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น เพื่อความปลอดภัย

การดำน้ำนั้น ยิ่งเชี่ยวชาญมากเท่าไหร่ คุณก็จะยิ่งสนุกสนาน กับการดำน้ำมากเท่านั้น ในขณะที่ออกสอบ หรือเพิ่งเรียนจบใหม่ๆ นักดำน้ำยังคงพะวักพะวง อยู่กับอุปกรณ์ต่างๆ การปรับร่างกาย ให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ๆ และอื่นๆ อีกหลายประการ จึงไม่สามารถชื่นชมความงามรอบกาย ได้อย่างเต็มที่ การไปเรียนที่สิมิลัน จึงอาจกลายเป็น การเสียโอกาส ที่จะได้เพลิดเพลิน กับความงามของสิมิลัน อย่างแท้จริง

นอกจากนี้ จุดดำน้ำที่สิมิลัน ส่วนใหญ่ จะอยู่ที่ความลึกประมาณ 20 เมตร หรือมากกว่า ซึ่งต้องใช้ทักษะการดำน้ำ ที่สูงขึ้นไปอีก ดังนั้น เพื่อความสนุกสนาน และปลอดภัย นักดำน้ำ จึงควรมีความเชี่ยวชาญพอประมาณ ก่อนจะไปท่องเที่ยวดำน้ำ ณ จุดดำน้ำที่ต่างๆ



เครดิตข้อมูลจาก : freedomdive
เครดิตรูปภาพ : สิมิลัน โปร ไดฟ์

ปะการัง ( Coral )

by 18:47

แนวปะการังเป็นแนวหินปูนใต้ทะเลในระดับน้ำตื้นที่แสงแดดส่องถึง หินปูนดังกล่าวเป็นผลมาจากการเจริญเติบโตของปะการังหลายๆ ชนิด นอกจากนี้ ยังมีสิ่งมีชีวิตอื่นๆ อีกหลายชนิดที่มีส่วนเสริมสร้างหินปูนพอกพูนสะสมในแนวปะการัง เช่น สาหร่ายหินปูน หอยที่มีเปลือกแข็ง ฯลฯ ทั้งปะการังเองและสิ่งมีชีวิตที่สร้างหินปูนได้ เมื่อตายไปแล้วจะยังคงเหลือซากหินปูนทับถมพอกพูนต่อไป เนื่องจากแนวปะการังประกอบด้วยปะการังหลายชนิดและปะการังแต่ละชนิดมีลักษณะโครงสร้างแตกต่างกันไป ทำให้โครงสร้างของแนวปะการังมีลักษณะซับซ้อน เต็มไปด้วยซอกหลืบเหมาะสมต่อการดำรงชีวิตสิ่งมีชีวิตต่างๆ เช่น ปลาชนิดต่าง ๆ กุ้ง หอย ดาวทะเล ปลิงทะเล ฟองน้ำ ปะการังอ่อน กัลปังหา หนอนทะเล สาหร่ายทะเล เป็นต้น ทำให้แนวปะการังเป็นระบบนิเวศที่มีความซับซ้อน และมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงที่สุดในทะเล ความอุดมสมบูรณ์ของแนวปะการังดึงดูดให้มีการใช้ประโยชน์จากแนวปะการังมากขึ้นทั้งโดยตรงและโดยทางอ้อม ทรัพยากรสัตว์น้ำนานาชนิดจากแนวปะการังถูกนำขึ้นมาใช้ประโยชน์และการท่องเที่ยวในแนวปะการังเป็นที่นิยมมากขึ้น





ชีววิทยาและระบบนิเวศปะการัง
              “ชนิดและการแพร่กระจาย” ปะการังเป็นสัตว์ทะเลที่ไม่มีกระดูกสันหลัง แต่มีหินปูนเป็นโครงร่างแข็งที่เปรียบเสมือนกระดูก หินปูนที่ว่านี้เป็นส่วนที่รองรับเนื้อเยื่อตัวปะการัง ซึ่งมีรูปทรงเป็นทรงกระบอกเล็กๆ และที่ปลายกระบอกจะมีหนวดที่คอยโบกสะพัดเพื่อจับอาหารที่เป็นแพลงก์ตอนในน้ำ อาหารที่ปะการังใช้ในการดำรงชีพส่วนหนึ่งยังมาจากสารอาหารที่สาหร่ายสร้างขึ้น สาหร่ายที่ว่านี้โดยทั่วไปเรียกว่า “ซูแซนเทลลี่” (Zooxanthellae) เป็นสาหร่ายเซลล์เดียว (single cell algae) ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในเนื้อเยื่อของตัวปะการัง โดยปะการังและสาหร่ายนี้จะอยู่ร่วมกันแบบมีประโยชน์ร่วมกัน โดยปะการังให้ที่อยู่อาศัยและอาหารแก่สาหร่าย เช่น ของเสียที่เกิดขึ้น ทั้งก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ที่เกิดจากขบวนการหายใจของปะการัง และของเสียจากกากอาหารที่ย่อยแล้ว สาหร่ายก็จะนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการปรุงอาหารต่อไป





หากสังเกตตามผิวหินปูนของปะการัง จะเห็นช่องที่เป็นที่ฝังตัวของตัวปะการัง ซึ่งอาจจะเป็นช่องเล็กๆ เพียง 1 มิลลิเมตรจนถึงขนาด 2-3 เซนติเมตร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของปะการัง ลักษณะช่องอาจจะเป็นช่องกลม รี เหลี่ยม หรืออาจเป็นร่องยาวก็ได้ โดยช่องที่ว่านี้เป็นที่อยู่ของปะการังแต่ละตัวหรือหลายตัวก็ได้ในกรณีที่เป็นร่องยาว ดังนั้น จะเห็นว่าในปะการังหนึ่งก้อน หนึ่งกอ หรือหนึ่งแผ่น ประกอบขึ้นด้วยตัวปะการังจำนวนมาก โดยมีเนื้อเยื่อเชื่อมติดกัน เราจึงมักเรียกกันว่า “ปะการังอยู่กันเป็นกลุ่ม (colony)” ตัวปะการังจำนวนมากประกอบขึ้นมาเป็นกลุ่มก้อน เป็นผลมาจากการเจริญเติบโตของปะการัง ซึ่งก็คือการแบ่งตัวขยายพันธุ์แบบ “cloning” นั่นเอง แต่ยังมีปะการังอีกประเภทหนึ่งซึ่งมีจำนวนชนิดไม่มากนัก โดยในหนึ่งก้อนประกอบขึ้นด้วยตัวปะการังเพียงตัวเดียว กล่าวคือ เป็นปะการังประเภท “อยู่แบบเดี่ยว (solitary)” เช่น ปะการังดอกเห็ด (Mushroom coral)

เครดิตข้อมูลจาก : ระบบฐานข้อมูลกลางและมาตรฐานข้อมูลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
เครดิตข้อมูลรูปภาพจาก : สิมิลัน โปร ไดฟ์

ปลานกแก้ว (Parrotfish)

by 20:29



ปลานกแก้ว (Parrotfish) เป็นปลาทะเลขนาดกลางชนิดหนึ่ง ที่มีสีสันสวยงามมาก เมื่อโตเต็มที่จะมีความยาวลำตัวราว 30-80 เซนติเมตร ปลานกแก้วจัดอยู่ในกลุ่มปลาทะเลกระดูกแข็งในวงศ์ Scaridae ในอันดับปลากะพง (Perciformes) เป็นปลาที่มีเกล็ดขนาดใหญ่ จะงอยมีปากยืดหดได้ ปากคล้ายนกแก้ว (เป็นที่มาของชื่อปลานกแก้ว) และเนื่องจากความสวยงามและแปลกตา จึงนิยมนำปลานกแก้วมาเลี้ยงไว้ดูเล่น และบางคนก็นิยมนำมาทำเป็นอาหารด้วย

           แม้นปลานกแก้วที่พบในท้องทะเลไทยทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามันจะมีอยู่มากมายกว่า 20 ชนิด แต่เมื่อนักดำน้ำพบเห็นก็สามารถจะแยกแยะออกได้ทันทีว่าเป็นปลานกแก้ว เพราะรูปร่างที่เป็นเอกลักษณ์โดยเฉพาะบริเวณปากที่ปลาตระกูลนี้จะมีฟันที่แข็งแรงลักษณะติดกันเป็นแผงติดกันเป็นพืดยื่นออกมานอกเรียวปากทั้งด้านล่างและด้านบนลักษณะคล้ายเป็นจะงอยปากของนกแก้ว อันเป็นที่มาของชื่อปลานกแก้วนั่นเอง ซึ่งนอกจากปากจะมีลักษณะเป็นปากนกแก้วแล้ว สีสันบนลำตัวของมันยังสดใสสวยงามคล้ายกับสีสันของนกแก้วซึ่งมีตั้งแต่สีเขียว สีแดง สีเหลือง สีลายดำแดง และสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนปลาอื่นใดอีกอย่างหนึ่งก็คือลักษณะของท่าทางการว่ายน้ำ ซึ่งปลานกแก้วจะว่ายน้ำโดยใช้ครีบข้างลำตัวกางโบกน้ำแล้วหุบเข้ามาติดลำตัว โบกแล้วหุบ โบกแล้วหุบ เป็นจังหวะมองดูสวยงามราวกับการกางปีกบินของนกเลยทีเดียว
     
       ปลานกแก้วเป็นปลาที่ชอบอาศัยอยู่ในน้ำทะเลค่อนข้างใส ว่ายเวียนหากินอยู่ตามแนวปะการัง โดยเฉพาะบริเวณหมู่ปะการังโครงสร้างแข็ง ด้วยธรรมชาติได้ออกแบบโครงสร้างของปากและฟันอันแข็งแรงให้เหมาะสมกับการขูดกัดแทะกินสาหร่ายที่เคลือบอยู่บนโขดหินหรือโขดปะการัง รวมทั้งการขูดกินตัวปะการังขนาดเล็กจากปะการังโครงสร้างแข็งทั้งหลาย โดยแผงฟันที่มีแถวบนสองแถวแถวล่างสองแถวจะสามารถขุดหรือแทะขบผิวหน้าของปะการัง ปลานกแก้วจะมีอวัยวะภายในสำหรับแยกแยะตัวปะการังกับฝุ่นผงที่เป็นโครงสร้างหินปูน เพื่อขับถ่ายออกมาคืนสู่ท้องทะเล เราจึงสามารถจะพบเห็นปลานกแก้วว่ายน้ำกินไป ถ่ายฝุ่นผงไปเป็นระยะๆ ซึ่งจากการศึกษาวิจัยของนักชีววิทยาทางทะเลพบว่า ปลานกแก้ตัวโตขนาดน้ำหนักประมาณ 1 กิโลกรัมนั้น สามารถจะผลิตฝุ่นทรายให้กับท้องทะเลได้เป็นปริมาณมากถึง 1 ตันเลยทีเดียว ซึ่งจะจริงจะเท็จอย่างไรนั่นเป็นเรื่องของการศึกษาการคำนวณ ซึ่งก็อาจจะเป็นไปได้ครับ เพราะปลานกแก้วนั้นจะใช้เวลาออกว่ายน้ำหากินในตอนกลางวันตลอดทั้งวัน วันหนึ่งก็กัดกินและถ่ายผงทรายออกมา ฝุ่นผงของโครงสร้างหินปูนเหล่านี้ก็มีน้ำหนักอยู่ไม่น้อย ถ้านำปริมาณมาชั่งน้ำหนักกันทั้งปีก็อาจจะมีน้ำหนักเป็นตันได้เหมือนกัน แต่ถ้าจะมีความเห็นแย้งว่า หากปลานกแก้ว 1 ตัวกินปะการังแล้วถ่ายมูลฝุ่นผงทรายออกมาเป็นตันใน 1 ปี ทั่วทั้งแนวปะการังบางแห่งมีปลานกแก้วอยู่มากมาย ถ้ากัดกินตัวละ 1 ตันเช่นนั้น แนวปะการังคงจะไม่มีอะไรเหลือให้กัดให้กินให้อยู่อาศัยอย่างที่เห็นเช่นทุกวันนี้หรอก

ถิ่นที่อยู่และการหาอาหาร
ปลานกแก้วเป็นปลาที่อาศัยอยู่ในแนวปะการังเขตร้อนและเขตอบอุ่น พบมากทั้งฝั่งทะเลอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามัน อาศัยแนวปะการังเป็นที่อยู่อาศัย หลบภัย และหาอาหาร โดยที่อาหารหลักของปลานกแก้วคือสาหร่ายและซากปะการัง โดยจะออกหากินในเวลากลางวันและซ่อนตัวเพื่อหลับนอนในเวลากลางคืน

ประโยชน์ของปลานกแก้วต่อระบบนิเวศน์
เนื่องจากปลานกแก้วอาศัยอยู่ตามแนวปะการัง และกินซากปะการังและสาหร่ายเป็นอาหาร ดังนั้นปลานกแก้วจึงมีประโยชน์ต่อระบบนิเวศน์และการมีอยู่ของปะการังอย่างมาก (ปะการังคือที่อยู่และที่วางไข่ของสัตว์ทะเลจำนวนมาก) กล่าวคือ ปลานกแก้วช่วยกินสาหร่ายทะเลซึ่งเป็นตัวขัดขวางการสังเคราะห์แสงของประการัง ซึ่งถ้ามีสาหร่ายทะเลมากเกินไปจนคลุมทับปะการังจนสังเคราะห์แสงไม่ได้ ปะการังรังนั้นก็จะตาย เมื่อมีปลานกแก้วมาช่วยกำจัดสาหร่าย อันตรายของปะการังจากสาหร่ายทะเลก็จะหมดไป

นอกจากนี้ปลานกแก้วยังชอบกินซากปะการังทำให้ตัวอ่อนประการังสามารถร่วงตกลงสู่พื้นดินได้ง่ายและสามารถงอกเป็นประการังใหม่ขึ้นมาได้ ประกอบกับขี้ของปลานกแก้วมีลักษณะเป็นผงสีขาว ช่วยเพิ่มเนื้อดิน (ทราย) ในบริเวณนั้น ซึ่งเอื้อต่อการเจริญเติบโตของปะการังได้เป็นอย่างดี

ดังนั้นจึงสามารถกล่าวได้ว่า ในระบบนิเวศน์ใดที่มีปลานกแก้วชุกชุม ปะการังก็จะเจริญเติบโตได้ดี และสามารถเป็นแหล่งอาหาร ที่หลบภัย ที่วางไข่ และที่อนุบาลตัวอ่อนให้กับสัตว์ทะเลได้เป็นจำนวนมาก ทำให้ระบบนิเวศน์ในทะเลบริเวณนั้นมีความสมบูรณ์
Blogger 提供支持.