ปะการัง ( Coral )
แนวปะการังเป็นแนวหินปูนใต้ทะเลในระดับน้ำตื้นที่แสงแดดส่องถึง หินปูนดังกล่าวเป็นผลมาจากการเจริญเติบโตของปะการังหลายๆ ชนิด นอกจากนี้ ยังมีสิ่งมีชีวิตอื่นๆ อีกหลายชนิดที่มีส่วนเสริมสร้างหินปูนพอกพูนสะสมในแนวปะการัง เช่น สาหร่ายหินปูน หอยที่มีเปลือกแข็ง ฯลฯ ทั้งปะการังเองและสิ่งมีชีวิตที่สร้างหินปูนได้ เมื่อตายไปแล้วจะยังคงเหลือซากหินปูนทับถมพอกพูนต่อไป เนื่องจากแนวปะการังประกอบด้วยปะการังหลายชนิดและปะการังแต่ละชนิดมีลักษณะโครงสร้างแตกต่างกันไป ทำให้โครงสร้างของแนวปะการังมีลักษณะซับซ้อน เต็มไปด้วยซอกหลืบเหมาะสมต่อการดำรงชีวิตสิ่งมีชีวิตต่างๆ เช่น ปลาชนิดต่าง ๆ กุ้ง หอย ดาวทะเล ปลิงทะเล ฟองน้ำ ปะการังอ่อน กัลปังหา หนอนทะเล สาหร่ายทะเล เป็นต้น ทำให้แนวปะการังเป็นระบบนิเวศที่มีความซับซ้อน และมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงที่สุดในทะเล ความอุดมสมบูรณ์ของแนวปะการังดึงดูดให้มีการใช้ประโยชน์จากแนวปะการังมากขึ้นทั้งโดยตรงและโดยทางอ้อม ทรัพยากรสัตว์น้ำนานาชนิดจากแนวปะการังถูกนำขึ้นมาใช้ประโยชน์และการท่องเที่ยวในแนวปะการังเป็นที่นิยมมากขึ้น
ชีววิทยาและระบบนิเวศปะการัง
“ชนิดและการแพร่กระจาย” ปะการังเป็นสัตว์ทะเลที่ไม่มีกระดูกสันหลัง แต่มีหินปูนเป็นโครงร่างแข็งที่เปรียบเสมือนกระดูก หินปูนที่ว่านี้เป็นส่วนที่รองรับเนื้อเยื่อตัวปะการัง ซึ่งมีรูปทรงเป็นทรงกระบอกเล็กๆ และที่ปลายกระบอกจะมีหนวดที่คอยโบกสะพัดเพื่อจับอาหารที่เป็นแพลงก์ตอนในน้ำ อาหารที่ปะการังใช้ในการดำรงชีพส่วนหนึ่งยังมาจากสารอาหารที่สาหร่ายสร้างขึ้น สาหร่ายที่ว่านี้โดยทั่วไปเรียกว่า “ซูแซนเทลลี่” (Zooxanthellae) เป็นสาหร่ายเซลล์เดียว (single cell algae) ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในเนื้อเยื่อของตัวปะการัง โดยปะการังและสาหร่ายนี้จะอยู่ร่วมกันแบบมีประโยชน์ร่วมกัน โดยปะการังให้ที่อยู่อาศัยและอาหารแก่สาหร่าย เช่น ของเสียที่เกิดขึ้น ทั้งก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ที่เกิดจากขบวนการหายใจของปะการัง และของเสียจากกากอาหารที่ย่อยแล้ว สาหร่ายก็จะนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการปรุงอาหารต่อไป
หากสังเกตตามผิวหินปูนของปะการัง จะเห็นช่องที่เป็นที่ฝังตัวของตัวปะการัง ซึ่งอาจจะเป็นช่องเล็กๆ เพียง 1 มิลลิเมตรจนถึงขนาด 2-3 เซนติเมตร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของปะการัง ลักษณะช่องอาจจะเป็นช่องกลม รี เหลี่ยม หรืออาจเป็นร่องยาวก็ได้ โดยช่องที่ว่านี้เป็นที่อยู่ของปะการังแต่ละตัวหรือหลายตัวก็ได้ในกรณีที่เป็นร่องยาว ดังนั้น จะเห็นว่าในปะการังหนึ่งก้อน หนึ่งกอ หรือหนึ่งแผ่น ประกอบขึ้นด้วยตัวปะการังจำนวนมาก โดยมีเนื้อเยื่อเชื่อมติดกัน เราจึงมักเรียกกันว่า “ปะการังอยู่กันเป็นกลุ่ม (colony)” ตัวปะการังจำนวนมากประกอบขึ้นมาเป็นกลุ่มก้อน เป็นผลมาจากการเจริญเติบโตของปะการัง ซึ่งก็คือการแบ่งตัวขยายพันธุ์แบบ “cloning” นั่นเอง แต่ยังมีปะการังอีกประเภทหนึ่งซึ่งมีจำนวนชนิดไม่มากนัก โดยในหนึ่งก้อนประกอบขึ้นด้วยตัวปะการังเพียงตัวเดียว กล่าวคือ เป็นปะการังประเภท “อยู่แบบเดี่ยว (solitary)” เช่น ปะการังดอกเห็ด (Mushroom coral)
เครดิตข้อมูลจาก : ระบบฐานข้อมูลกลางและมาตรฐานข้อมูลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
เครดิตข้อมูลรูปภาพจาก : สิมิลัน โปร ไดฟ์
Post a Comment